ตำรวจแห่งชาติ-ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยระวังสื่อออนไลน์ ปล้นเงินหมดบัญชี ส่งข้อความ SMS โทรศัพท์ กดลิงค์ อ้างธนาคาร ฃอข้อมูลส่วนตัว ห้ามกดลิงค์เด็ดขาด หากโดน รีบแจ้งความ

 



เร่งจับ ป้องกัน ปราบปราม สร้างการรับรู้กับประชาชน จับคนร้ายได้โทษหนัก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. และ โฆษก บช.สอท. กล่าวถึง กรณีที่มีการนำเสนอข่าวมิจฉาชีพส่ง ข้อความ SMS หลอกให้ผู้เสียหายหลายรายกรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านลิงก์ที่แนบมา โดยอ้างว่าเป็นการอัปเดตข้อมูลกับธนาคาร ต่อมาเงินในบัญชีของผู้เสียหายได้ถูกโอนออกไปจนหมด นั้น

ขอเรียนให้ทราบเพิ่มเติมว่า  การกระทำในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า Smishing คือ การอ้างตัวเป็นธนาคารหลอกลวงผู้เสียหายโดยการส่งข้อความ SMS ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ แล้วให้อัปเดตข้อมูลต่างๆ หากไม่อัปเดตจะใช้งานไม่ได้ หรือถูกปิดบัญชี หรืออ้างว่าท่านได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ยืนยันตัวตน จะเสียโอกาสได้รับรางวัลนั้น, หรืออ้างว่าได้รับการแจ้งว่ามีความผิดทางคดี หากไม่ยืนยันข้อมูล จะถูกดำเนินการทางกฎหมาย พร้อมแนบลิงก์เว็บไซต์ให้เรากดเข้าไปกรอกข้อมูลที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลส่วนตัวเชิงลึก เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร วันเดือนปีเกิด รหัสผ่านต่างๆ และ เลข OTP

ซึ่งในเบื้องต้น การกระทำลักษณะดังกล่าว อาจจะเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญา 342 ความผิดฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ, และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 5 เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, มาตรา 7 เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน โทษจำคุกไม่เกิน  2 ปี หรือปรับไม่เกิน  40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, มาตรา 11 ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ปรับไม่เกิน 100,000บาท และมาตรา 14 (1)โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ให้ความสำคัญ และตระหนักถึงภัยจากอาชญากรรมทางออนไลน์  ซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้กำชับสั่งการให้ พล.ต.ท.กรไชย  คล้ายคลึง ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ดำเนินการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการในการป้องกัน สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน หรือผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ให้ถูกลอกหลวงจากผู้ที่ฉวยโอกาสในการกระทำความผิด

รอง โฆษก ตร. และ โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน พึงระมัดระวังในการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ  ไม่เปิดลิงก์ที่แนบมาในข้อความ หรืออีเมล เพราะอาจจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่เตรียมไว้หลอกเอาข้อมูล อีกทั้งธนาคารต่างๆ ไม่มีนโยบายในการขอให้ลูกค้าเปิดเผยเลขประจำตัว หรือข้อมูลที่มีความสำคัญอื่นๆ ผ่านช่องทางดังกล่าวโดยเด็ดขาด หากธนาคารจะขอข้อมูลส่วนตัวจะต้องเป็นการขอซึ่งหน้าเท่านั้น  อีกทั้งต้องสังเกตเว็บไซต์ว่าเป็น URL ของธนาคารจริงหรือไม่  เว็บไซต์ที่ถูกต้องจะขึ้นด้วย https:// หรือมีสัญลักษณ์รูปกุญแจเป็นจุดสังเกต รวมทั้งต้องเช็คชื่อเว็บไซต์ว่าถูกต้องตรงกับ Official website ด้วย เพื่อความมั่นใจควรเข้าไปตรวจสอบ URL ของธนาคารนั้นๆ ซึ่งปกติเมื่อพิมพ์ชื่อธนาคารอย่างถูกต้องบน Google จะแสดง official website ของธนาคารนั้นๆ เป็นอันดับแรกอยู่แล้ว สามารถเปรียบเทียบกับชื่อเว็บที่อยู่ใน SMS ได้ทันทีว่าตรงกันหรือไม่  ส่วน LINE สังเกตหน้าชื่อ ของธนาคาร จะมีโล่สีเขียวหรือโล่สีน้ำเงิน เป็นเครื่องหมายยืนยันจากทาง LINE ว่า บัญชีนี้คือ บัญชีทางการ ที่สำคัญคือห้ามส่งมอบรหัส OTP ให้กับผู้อื่นโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม หากท่านถูกหลอกได้เผลอให้ข้อมูลไปแล้ว รีบดำเนินการเปลี่ยนรหัสการทำธุรกรรม และติดต่อธนาคารโดยเร็ว เพื่อขอทำการอายัดบัญชี จากนั้นรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น SMS ที่ได้รับ ลิงก์ที่เข้าไปกรอกข้อมูล ข้อความแจ้งเตือนที่เงินออกจากบัญชี เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป

สมชาย/อ๊อด..รายงาน

ความคิดเห็น